การรักษารากฟัน
อาการฟันผุชนิดรุนแรง มีอาการปวดแบบไม่มีสิ่งกระตุ้น นั่งหรือนอนเฉยๆไม่ทำอะไรก็ปวด หรือฟันที่แตกจน ทะลุประสาทฟันอันเกิดจาก การล้มหรืออุบัติเหตุ เกิดการอักเสบที่โพรงประสาทฟัน มีฝีหรือถุงหนองที่ปลายรากฟัน ฟันตาย หรืออักเสบ แบบไม่สามารถหายได้ (Irreversible) มีอาการปวด
ทรมาน เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค อาจบวมลามไปที่ใต้ตา หรือใต้คางซึ่งจะมีอันตรายมาก ยิ่งขึ้นไปอีก อาการแบบข้างต้น มีแนวทางรักษาสองทางเลือก คือ ถอนฟันออก หรือรักษารากฟัน การรักษารากฟันอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะสามารถเก็บรักษาฟันไว้ใช้งานได้ต่อไป ดีกว่าการใส่ฟันปลอม เพราะฟันที่รักษารากแล้วก็เหมือนฟัน ในปากซี่อื่นๆ คือ มีเบ้า กระดูกยึดให้ฟันแน่นมั่นคงแข็งแรง และให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการใส่ฟันปลอม
ขั้นตอนการรักษารากฟัน
1.กรอฟันหาคลองรากฟันซึ่งเป็นรูเล็กๆ อยู่ต่อจากโพรงประสาท ถึงปลายรากฟัน
2.ขยายคลองรากฟันให้ใหญ่ขึ้น เพื่อใช้น้ำยาล้าง ซับให้แห้ง และใส่ยาฆ่าเชื้อโรคได้
3.ปิดโพรงประสาทฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ประมาณ 3 ถึง 7 วัน
4.ล้างและขยายคลองรากฟัน พร้อมเปลี่ยนยาฆ่าเชื้อโรคใหม่ และอุดปิดโพรงประสาทฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราวกลับไปอีกครั้ง ทำเช่นนี้ 4-5 ครั้ง จนกว่าหนองจะแห้ง ไม่มีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกตกค้าง
5.เมื่อหนองแห้งไม่มีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกตกค้าง ทันตแพทย์ก็จะทำการอุดปิดโพรงประสาทฟันถาวรโดยใช้วัสดุจำพวกยาง อุดตั้งแต่ปลายรากฟันถึงพื้นโพรงประสาทฟัน และปิดทับด้วยวัสดุทางทันตกรรมจำพวกซีเมนต์ (Cement) และอมัลกั้ม ( Amalgum ) ซึ่งมีสีคล้ายเงินหรือกระดาษดีบุกที่หุ้มซองบุหรี่มีคุณสมบัติให้ ความแข็งแรงได้ดี จึงใช้อุดฟันกรามที่ต้องรับแรงบดเคี้ยวมากๆ สำหรับฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม และไม่ต้องรับแรงบดเคี้ยวมาก ก็จะอุดด้วยวัสดุที่มีสีเหมือนฟันธรรมชาติ
6.ทันตแพทย์จะทิ้งระยะเพื่อรอดูอาการซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของฟัน และเมื่อแน่ใจว่าการรักษารากฟันประสบความสำเร็จ ทันตแพทย์ ก็จะทำการครอบฟันด้วยวัสดุตามความเหมาะสม